HOME / สาเหตุของกรดไหลย้อน
“เกิร์ด” (GERD) หรือ โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
โรคกรดไหลย้อน หมายถึง ภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้มีอาการระคายบริเวณลำคอ และแสบอกหรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ รวมทั้งมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้ายๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหาร ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยา
ลดกรด (antacids) ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุด
โรคกรดไหลย้อนมีสาเหตุมาจากอะไร?
สาเหตุหลักของโรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการทำหน้าที่ของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เช่น มีการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างโดยที่ไม่มีการกลืน หรือความดันของหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างลดลง ไม่สามารถต้านแรงดันในช่องท้องและการบีบตัวของกระเพาะอาหารได้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้หูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด
โรคนี้พบได้บ่อยในบุคคลทุกเพศทุกวัย หูรูดอาจเสื่อมตามอายุ หูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ในเด็กทารก หรืออาจมีความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด นอกจากนี้อาจพบในสตรีมีครรภ์ด้วยเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายมีผลต่อการทำงานของหูรูดหลอดอาหาร โรคนี้มีความสัมพันธ์กับความอ้วน โรคเบาหวาน และโรคไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia) ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องอก ทำให้มีโอกาสเกิดการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดโรคกรดไหลย้อน อาทิ พฤติกรรมการบริโภค และการปฏิบัติตน ได้แก่ การรับประทานอาหารอาหารรสจัด/รสเผ็ด อาหารประเภทไขมันสูง อาหารทอด ชา กาแฟ น้ำอัดลม การดื่มสุรา สูบบุหรี่ การนอนหรือเอนกายทันทีหลังรับประทานอาหาร ความเครียด ตลอดจนการสวมเสื้อผ้าคับและรัดเข็มขัดแน่น เป็นต้น
อาการของโรคกรดไหลย้อน
มีอาการแสบอกหรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย และอาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย บางรายพบว่ามีภาวะเรอเปรี้ยว คือมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือน้ำดีซึ่งมีรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปากหรือคอ หรือหายใจมีกลิ่น บางรายอาจพบอาการผิดปกติของโรคหู คอ จมูก เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง หรืออาการหอบหืดเป็นมากขึ้น เป็นต้นเนื่องจากมีการไหลย้อนของน้ำย่อยไประคายที่คอหอย กล่องเสียง และหลอดลม
การรักษาโรคกรดไหลย้อน ทำอย่างไร ?
(1) การรักษาที่สำคัญอยู่ที่ผู้ป่วยเอง คือควรปฏิบัติตน ดังนี้
– พฤติกรรมการบริโภค
ไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมากเกินไป ควรรับประทานบ่อยครั้งๆละน้อย
หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด อาหารไขมันสูง อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด/เผ็ดจัด
หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม
หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และการสูบบุหรี่
– พฤติกรรมการดำเนินชีวิต
ไม่ควรนอนหรือเอนกายทันทีหลังจากรับประทานอาหาร ควรเว้นอย่างน้อย 3ชั่วโมง
รักษาน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ ไม่อ้วนเกินไป
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
พักผ่อนพอเพียงและรักษาตนไม่ให้เครียด
สวมใส่เสื้อผ้าหลวมสบายตัว ไม่รัดเข็มขัดแน่น
(2) การรักษาด้วยยา
กรณีที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย ควรรับประทานยาตามกำหนดอย่างเคร่งครัด และถ้ามีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
ปัจจุบันยาที่ได้ผลดีที่สุด คือ ยาลดกรดในกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitors) เช่น โอเมพราโซล (omeprazole) ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันอาการของโรคกรดไหลย้อน โดยให้รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ หรืออาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่นกรณีที่เป็นมากหรือมีอาการมานาน ซึ่งอาจจะมีการปรับการรับประทานยาเป็นระยะ ๆ ตามอาการที่มี หรือรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน บางกรณีอาจใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น เมโทโคลพราไมด์ (metoclo-pramide) ขนาด 10 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งยานี้ควรรับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที
(3) การรักษาโดยการผ่าตัด
ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมหูรูด
ที่มา : http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/